แรงสั่นสะเทือนของการลอบสังหาร นายอาเบะ ชินโซ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

“การลอบสังหาร” อาเบะ ชินโซ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นเรื่อง “สั่นสะเทือน” เอามากๆ เพราะอาเบะมีนโยบาย “เชิงรุก” ในด้านการทหารและความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน

แม้จะพ้นจากตำแหน่งแล้วยังพูดถึงการช่วยส่งทหารไปช่วยไต้หวันและทำให้จีนเคืองอยู่เนืองๆ

ดังนั้น ต้องจับตากันดีๆ ว่าผู้ลงมือก่อเหตุเพราะอะไร และจะสะเทือนถึงการเมืองโลกหรือไม่

ที่สะเทือนต่อผมมากอีกอย่างหนึ่งคือในฐานะผู้สนใจเรื่องญี่ปุ่นและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

คนญี่ปุ่นบอกว่านี่คือการลอบสังหารนายก/อดีตนายก ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ กรณีเดือน 2 วันที่ 26 (二・二六事件) เมื่อปี 1936 ที่นายทหารหนุ่มพยายามยึดอำนาจด้วยการยกพลไปลอบสังหารนักการเมืองใหญ่ของประเทศ ครั้งนั้นอดีตนายกฯ เสียชีวิตไป 2 คน ส่วนนายกที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้นรอดชีวิตหวุดหวิด

ไซโก มาโกโตะ อดีตนายกหนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้น ดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังกรณีเดือน 5 วันที่ 15 (五・一五事件) เมื่อปี 1932 ซึ่งนายทหารหนุ่มญี่ปุ่นลอบสังหารนายกอินุไค ซึโยชิ ทำให้ไซโก มาโกโตะรับตำแหน่งต่อมา แต่แล้วก็ต้องมาตายเพราะการลอบสังหารเช่นกัน

กรณีลอบสังหารทั้ง 2 กรณีนี้ทำให้การเมืองญี่ปุ่นผันแปรอย่างหนักจากทิศทางเสรีประชาธิปไตย เป็นระบอบเผด็จการทหารนิยม และนำญี่ปุ่นสู่วังวนของสงคราม

อาเบะ ชินโซ เองมาจากตระกูลนักการเมืองใหญ่ ตาของเขาคือนายก คิชิ โนบุสุเกะ เจ้าของฉายา “อสูรแห่งยุคโชวะ” ถูกลอบสังหารโดยคนร้ายที่ใช้มีดแทงเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1960

เหตุการณ์ครั้งนั้น คิชิ รอดมาได้ ในยุคนี้หลานของเขากลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี และ “ถูกลอบสังหาร” เช่นกัน

ทั้งคิชิ ผู้เป็นตาและอาเบะผู้เป็นหลาน มีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ต้องการให้ญี่ปุ่นมีกองทัพที่แข็งแกร่งอีกครั้ง คิชิต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญเลิกข้อห้ามญี่ปุ่นมีกองทัพเลยทีเดียว (และยังแก้ต่างให้กับการการรุกรานชาติเอเชียและการสร้างวงไพบูลย์เอเชียในช่วงสงคราม)

ปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นไม่มีกองทัพมีแต่ “กองกำลังป้องกันตนเอง” ซึ่งแสนยานุภาพแกร่งขึ้นอย่างมากเพราะการผลักดันของอาเบะ และเช่นเดียวกับตาของเขา อาเบะต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้ประเทศมีกองทัพเป็นตัวเป็นตนเสียที

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆ จึงนำมาบอกกล่าวให้ตระหนักถึงเบื้องลึกเบื้องหลังต่อการเมืองโลก

แม้ผู้ก่อเหตุจะมีเจตนาอื่นที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่นี่ก็นับเป็นเรื่องสะเทือนขวัญระดับโลกอยู่ดี ในญี่ปุ่นนั้นถึงกับเริ่มตั้งคำถามกันเรื่องความปลอดภัยของนักการเมืองกันแล้ว

ป.ล.
ในยุคก่อนสงครามมีการลอบสังหารนายกฯ ญี่ปุ่นค่อนข้างบ่อย ส่วนใหญ่เป็นการลงมือของฝ่ายขวาในยุคของรัฐบาลประชาธิปไตยเฟื่องฟู และในที่สุดการลอบสังหารเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคัร้งใหญ่ดังที่เขียนไว้ข้างต้น

การลอบสังหารนายก สำคัญๆ เช่น ปี 1921 นายกฯ ฮาระ ทาเคชิ ถูกพวกขวาจัดแทงที่สถานีโตเกียว ปี 1930 นายกฯ ฮามากุจิ โอซาจิ ถูกพวกฝ่ายขวายิงที่สถานีโตเกียวเช่นกัน และย้อนกลับไปกรณีแรก คือ ฮิโรบูมิ อิโต ถูกผู้รักชาติเกาหลีสังหารที่ฮาร์บิน

การลอบสังหารนักการเมืองญี่ปุ่นหลังสงครามเกิดขึ้นอยู่ประปราย ไม่ใช่ไม่เคยมี กรณีใหญ่เช่นการลอบสังหารอาซานุมะ อิเนจิโรจนเสียชีวิต เมื่อเดือนตุลาคม 1960 ผู้ก่อเหตุใช้ดาบญี่ปุ่นจ้วงแทงเข้าไปต่อหน้าผู้คนที่ฟังการปราศรัยของอาซานุมะ

ญี่ปุ่นนั้นไม่ค่อยพกปืนและใช้ปืนฆ่ากันน้อย จะเห็นว่าการลอบสังหารคิชิและอาซานุมะใช้มีด แต่ก็มีการใช้ปืนเช่นกัน เช่น กรณีสังหารนายกเทศมนตรีนางาซากิโดยพวกฝ่ายขวาจัด ปี 1990 การยิงทำร้ายรองประธานพรรค LDP เมื่อปี 1992 และนายกเทศมนตรีนางาซากิถูกยากูซายิงเมื่อปี 2007

จนกระทั่งเอเบะถูกผู้ต้องสงสัยชื่อ ยามากามิ เท็ตสึยะ ยิงด้วยปืนกระสุนลูกปรายระหว่างปราศรัยที่แถววัดไซไดจิ จ. นาระ 8 กรกฎาคม ปี 2022


เรียบเรียงโดย Kornkit Disthan